ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรื่องห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมี 4 ชนิดที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท เริ่มมีผลบังคับใช้วันแรก 4 ส.ค.นี้
ประกาศดังกล่าว ระบุว่า ด้วยในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยจากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดด มีส่วนทำให้ให้ปะการังเสื่อมโทรมลง เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ และทำให้ปะการังฟอกขาว
ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไป ในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben
ปะการังสำคัญอย่างไรกับท้องทะเล? ปะการังเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทะเล เพราะปะการังเป็นที่พักพิงให้กับสัตว์ทะเลน้อยใหญ่มากมาย เป็นทั้งบ้าน พื้นที่ขยายพันธุ์ แหล่งหาอาหาร และพื้นที่สำหรับการหลบซ่อนผู้ล่า เกิดเป็นระบบนิเวศอันสมบูรณ์ไปโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นบ้านให้กับกว่า 1,500 สายพันธุ์ได้อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง และนี้คือสาเหตุว่าทำไมแนวปะการังถึงได้เป็นที่รู้จักกันในนาม “ป่าฝนในเขตร้อนแห่งท้องทะเล”
ต้นเหตุของปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษจากมนุษย์ นอกจากครีมกันแดดแล้วปะการังมีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ ค่าความด่าง และความขุ่นของน้ำ นอกจากนั้น กิจกรรมของมนุษย์ทั้งบนบกและทางน้ำล้วนเป็นภัยกับแนวปะการังทั้งสิ้น เช่นยาฆ่าแมลงจากอุตสาหกรรมการเกษตรที่ไหลลงสู่แม่น้ำ น้ำเสียจากทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือนที่ถูกปล่อยลงสู่ท้องทะเล